My Photo ^_^

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

4 อาหารลดอาการตาแห้ง



คุณเคยรู้สึกตาแห้ง ตาพร่ามัว หรือฝืดเคืองตา ต้องกระพริบตาถี่ๆ คล้ายมีเศษผงเข้าตา จนทำให้มองภาพไม่ชัด หรือบางครั้ง มีขี้ตาออกมาเป็นเมือกเหนียวกันบ้างไหมคะ ถ้ามีแสดงว่าคุณกำลังมีอาการตาแห้งแล้วล่ะ
สำรวจสาเหตุของอาการตาแห้ง
ตาแห้ง เป็นอาการที่มีความผิดปกติของน้ำตา โดยปกติดวงตาของคนเรา จะมีปริมาณน้ำตาเพียงพอที่จะมาหล่อเลี้ยง หรือให้ความชุ่มชื้นกับดวงตา รวมถึงฉาบกระจกตา ทำให้การมองเห็นชัดเจน
ส่วนอาการตาแห้งเกิดจากการมีปริมาณน้ำตาน้อย หรือคุณภาพของน้ำตาไม่ดีพอ ซึ่งน้ำตาที่ดีมีส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ ไขมัน น้ำใส และเมือก หากส่วนประกอบ 1 ใน 3 ของน้ำตาขาดความสมดุลหรือไม่มีคุณภาพ จะทำให้ตาแห้งได้
อาการนี้เป็นได้ทุกเพศ แต่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจะพบมากขึ้นตามวัย โดยเฉพาะในผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นผลมาจากระดับฮอร์โมนที่ลดลง ทำให้สารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งน้ำตาก็ลดปริมาณลงไปด้วย นอกจากนี้ อาการดังกล่าวยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ ดังนี้
ภาวะที่ทำให้เส้นประสาทรับความรู้สึกที่ตาลดลง เช่น การใส่คอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่มีคุณภาพ การผ่าตัดกระจกตาหรือเปลี่ยนกระจกตา การอักเสบของกระจกตาจากเชื้อเริม นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเป็นอัมพฤกษ์ที่ใบหน้า
โรคที่ผิดปกติทางภาวะภูมิคุ้มกัน (Autoimmune) เช่น โรค Sjogren's Syndrome ซึ่งมีอาการตาแห้ง ร่วมกับข้ออักเสบและปากแห้ง โรคข้อบางชนิด หรือโรคเอดส์
โรคบางชนิด ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบกับเยื่อบุตา เช่น กลุ่มอาการแพ้ยา อย่างสตีเวนจอห์นสัน (Stevens-Johnson) ริดสีดวงตา และเบาหวาน
การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาคุมกำเนิด ยานอนหลับ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
การทำงานของเปลือกตาบกพร่อง เช่น หลับตาไม่สนิท กะพริบตาน้อย เปลือกตาผิดรูป
สภาพแวดล้อม เช่น อยู่ในห้องปรับอากาศที่มีอากาศแห้ง หรือมีฝุ่นควัน ลม และแดดจ้า
อาชีพที่ต้องใช้สายตาจ้องเป็นเวลานาน เช่น พนักงานคอมพิวเตอร์ ช่างอ๊อกเหล็ก หรือยามที่เฝ้ากล้องวงจรปิด
แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจกันไปค่ะ เพราะผู้ที่มีอาการตาแห้งส่วนใหญ่มักเป็นในระดับไม่รุนแรง แค่ก่อความรำคาญใจ แต่ไม่ทำให้ตาบอดได้
เทคนิคเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
กระพริบตาถี่ๆ ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20 - 22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดน้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้อง หรือเพ่งตาค้างไว้นานกว่าปกติ เช่น เวลาที่เราอ่านหนังสือ ดูทีวีหรือจ้องคอมพิวเตอร์ จะทำให้เรากระพริบตาเพียง 8 - 10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตาระยะสั้นๆ โดยการหลับตา หรือกระพริบตาอย่างช้าๆ หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 2 - 3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง
ประคบดวงตาด้วยน้ำเย็น แช่ผ้าขนหนูผืนเล็ก 2 ผืนในน้ำเย็น หยิบขึ้นมา 1 ผืน บิดพอหมาดและพับทบเป็นผืนยาว วางปิดดวงตาไว้ทั้งสองข้างนานประมาณ 20 นาที หรือจนกว่าผ้าจะหายเย็น แล้วจึงใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งประคบ สลับกันไปมา จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาของคุณได้เช่นกัน
กินอาหารลดอาการตาแห้ง
กล้วย กินกล้วยทุกวัน เพราะกล้วยมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งจะทำงานร่วมกับโซเดียมเพื่อรักษาภาวะสมดุลน้ำในร่างกาย และช่วยให้ดวงตาของคุณชุ่มชื้นอยู่เสมอ
ถั่วประเภทนัท (Nut) ชนิดต่างๆ โดยเฉพาะวอลนัต ควรรับประทานวันละประมาณ 1 กำมือ เพราะถั่วประเภทนี้มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว หรือกรดไขมันโอเมก้า-3 สูง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในน้ำตา
ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่าหรือปลาแซลมอน เพราะมีกรดไขมันที่จำเป็นหรือโอเมก้า-3 ด้วย
น้ำมันปอ (Flexseed oil) หรือน้ำมันเมล็ดลินิน จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมกรดไขมันโอเมก้า-3 อย่างเพียงพอ โดยรับประทานวันละ 1 ช้อนโต๊ะ หรือผสมในซีเรียลแล้วรับประทานก็ได้
ปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม
หลีกเลี่ยงการทำงานในบริเวณที่มีแสงจ้าและลมแรง เพราะจะทำให้ตาแห้งเร็ว ควรใส่แว่นกันแดดช่วย โดยเลือกแว่นขนาดใหญ่ที่มีขอบด้านข้าง เพื่อช่วยลดการระเหยของน้ำตา
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศแห้ง และเย็นจัด เช่น ห้องปรับอากาศ ตลอดจนหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝุ่นละอองและควันต่าง ๆ เช่น บุหรี่ ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองตา
อย่าเป่าลมร้อนจากเครื่องเป่าผมเข้าตาโดยตรง รวมทั้งปรับไม่ให้เครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมเป่าโดนตาหรือใบหน้าโดยตรง
พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนไม่พออาจทำให้ตาแห้งและตาแดงช้ำ เนื่องจากเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงดวงตาบวม การพักผ่อนให้สมดุลจึงดีต่อดวงตาที่สุด

วิธีการนวดแผนโบราณ นวดแผนไทย นวดไทยและนวดเพื่อสุขภาพ


                                                               
► วิธีการนวดแผนโบราณ เราสามารถนวดบนร่างกาย โดยใช้วิธีการนวดต่าง ๆ ดังนี้  
  • การนวด  การใช้น้ำหนัก  กดลงบนส่วนต่าง ๆ  ของร่างกาย น้ำหนักที่กดจะทำให้ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืดคลาย การนวดไทยเน้นมักจะใช้น้ำหนักของร่างกายเป็นแรงกด
  • การบีบ เป็นการใช้น้ำหนัก กดลงบนส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในลักษณะ 2 แรงกดเข้าหากัน
  • การคลึง  การใช้น้ำหนัก กดคลึง เป็นการกระจายน้ำหนักกดบนส่วนนั้น การคลึงให้ผลในการคลายใช้กับบริเวณที่ไวต่อการสัมผัส เช่น กระดูก ข้อต่อ
  • การถู  การใช้น้ำหนักถู เพื่อทำให้ผิวหนังเกิดการยืดขยายรูขุมขนเปิด วิธีนี้นิยมใช้กับยาหรือน้ำมันเพื่อให้ตัวยาซึมเข้าได้ดี
  • การกลิ้ง  การใช้น้ำหนักหมุนกลิ้ง ทำให้เกิดแรงกดต่อเนื่องไปตลอดอวัยวะ ทั้งยังเป็นการยืด กล้ามเนื้ออีกด้วย
  • การหมุน  การใช้น้ำหนักหมุนส่วนที่เคลื่อนไหวได้คือ ข้อต่อ เพื่อให้พังผืด เส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อต่อ ยืดคลายการเคลื่อนไหวดีขึ้น
  • การบิด  จะมีลักษณะคล้ายกับการหมุน
  • การดัด  การใช้น้ำหนักยืด ดัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นพังผืดให้ยืดกว่าการทำงานปกติ เพื่อให้เส้นหย่อนคลาย
  • การทุบ  การใช้น้ำหนักทุบ ตบ สับ ลงบนกล้ามเนื้อให้ทั่ว
  • การเขย่า  การใช้น้ำหนักเขย่ากล้ามเนื้อ เพื่อกระจายความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อให้ทั่ว
► "ลักษณะการนวดแผนโบราณ" แบ่งออกเป็น  3  ลักษณะ
  1. การนวดยืด ดัด ลักษณะการนวดแบบนี้คือ การยืด ดัดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด ให้ยืดคลาย
  2. การนวดแบบจับเส้น ลักษณะการนวดคือ การใช้น้ำหนักกดลงตลอดลำเส้นไปตามอวัยวะต่าง ๆ การนวดชนิดนี้ค้องอาศัยความเชื่ยวชาญของผู้นวด ซึ่งได้ทำการนวดมานานและสังเกตถึงปฏิกิริยาของแรงกดที่แล่นไปตามอวัยวะต่าง ๆ
  3. การนวดแบบกดจุด ลักษณะการนวดคือ การใช้น้ำหนักกดลงไปบนจุดของร่างกาย การนวดนี้เกิดจากประสบการณ์และความเชื่อว่าอวัยวะของร่างกายมีแนวสะท้อนอยู่บนส่วนต่าง ๆ และเราสามารถกระตุ้นการทำงานของอวัยวะนั้นโดยการกระตุ้นจุดสะท้อนที่อยู่บนส่วนต่าง ๆ บนร่างกาย
 เทคนิคการนวดแผนโบราณ
1. นวดด้วยนิ้วหัวแม่มือ วิธีกดนวดแบบนี้ใช้ผิวหน้าของนิ้วหัวแม่มือส่วนบน ไม่ใช่ปลายนิ้วหรือปลายเล็บจิกลงไป
2. นวดด้วยฝ่ามือ เหมาะสำหรับการนวดบริเวณที่มีพื้นที่กว้าง น้ำหนักตัวที่ทิ้งลงไปที่ฝ่ามือจะช่วยทำให้การนวดด้วยวิธีนี้ได้ผลดียิ่งขึ้น ซึ่งสามารถนวดได้ 3 ลักษณะกล่าวคือ
        2.1 นวดด้วยท่าประสานมือ
        2.2 นวดด้วยท่าผีเสื้อบิน
        2.3 นวดโดยวางมือห่างจากกันเล็กน้อย
3. นวดด้วยนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างพร้อมกัน วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นเส้นพลังต่าง ๆ โดยการเลื่อนนิ้วไปตามแนวเส้น เว้นช่องว่างระหว่างนิ้วทั้งสองข้างประมาณ 2-3 ซม.
4. กดนวดด้วยเท้า นิยมใช้วิธีการกดนวดบริเวณที่กว้างและมีส่วนเว้าส่วนโค้งอย่างน่องขาหรือต้นขาที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของผู้รับการนวด ในขณะที่การใช้ส้นเท้านวดจะเหมาะสำหรับการนวดในท่าที่ต้องการแรงกดมาก ๆ
5. กดนวดด้วยเข่า การกดนวดด้วยเข่ามักจะนิยมใช้ในท่าที่มือจำเป็นต้องไปจับอวัยวะส่วนอื่นอยู่ ซึ่งจะถ่ายเทน้ำหนักได้ดี นิยมใช้ในการนวดต้นขาส่วนล่างและสะโพก
6. ยืนกด การใช้ท่านี้จะต้องระวังการยืนให้ดี ควบคุมให้ได้ว่าจะทิ้งน้ำหนักตัวไปส่วนไหนจึงจะไม่เป็นอันตรายและเกิดประโยชน์กับผู้รับการนวดมากที่สุด มักนิยมยืนคร่อมต้นขาของผู้รับการนวด
7. กดนวดด้วยข้อศอก นิยมใช้ปลายข้อศอกแหลม ๆ กดลงไป มักกดบริเวณต้นขา สะโพกและไหล่ ที่มีกล้ามเนื้อค่อนข้างหนา มีไขมันสะสมมาก
8. กดนวดด้วยท่อนแขน ถ้าหากผู้รับการนวดรู้สึกเจ็บ ให้ใช้วิธีการนวดด้วยท่อนแขนแทน เพราะจะรู้สึกนุ่มนวลขึ้นมากเลยทีเดียว


บริหารลดพุง 10 ท่า

"ข้อแพลง ไม่ธรรมดา อาจแฝงโรคอื่น"


สารานุกรมทันโรค นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
          ข้อเพลงมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น เดินข้อพลิก ข้อบิด หรือสะดุด หกล้ม เป็นภาวะที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง สามารถให้การดูแลรักษาด้วยตนเอง ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 3-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ถ้าดูแล 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา หรือมีอาการปวดรุนแรงหรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น ก็ควรรีบไปปรึกษาหมอที่อยู่ใกล้บ้าน
 ชื่อภาษาไทย : ข้อเพลง ข้อเคล็ด
 ชื่อภาษาอังกฤษ : Sprains, Strains
 สาเหตุ
          -  เกิดจากเส้นเอ็น และ/หรือ กล้ามเนื้อที่ยึดอยู่รอบ ๆ ข้อต่อกระดูกมีการฉีก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บ เช่น หกล้ม ข้อบิด ข้อพลิก ถูกกระแทก หรือยกของหนัก
 อาการ
            ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บที่ข้อหลังได้รับบาดเจ็บทันที โดยจะเจ็บมากเวลาเคลื่อนไหวข้อ
            ข้อจะมีลักษณะบวม และใช้นิ้วกดถูกเจ็บ อาจพบรอยเขียวคล้ำ หรือฟกช้ำ เนื่องจากหลอดเลือดฝอยแตกร่วมด้วย
           อาการจะรุนแรงมากน้อยขึ้นกับปริมาณของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ฉีกขาด
           ข้อเพลงมักเกิดขึ้นเพียง 1 ข้อ ที่พบบ่อยได้แก่ ข้อเท้า (ทำให้เดินกะเผลก) นอกจากนี้ อาจเกิดที่ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อมือ หรือข้อนิ้ว

 การแยกโรค
                อาการปวดข้อ ข้อบวม ที่เกิดขึ้นฉับพลันอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่สำคัญ ได้แก่
  ข้อกระดูกแตกร้าว
                มักเกิดหลังได้รับบาดเจ็บและมีอาการคล้ายข้อแพลง แต่มักมีอาการรุนแรงและหายช้ากว่าข้อแพลง ในกรณีที่คิดว่าเป็นข้อแพลง ถ้าให้การดูแล 2-3 วันแล้วไม่ทุเลา ก็อาจเกิดจากข้อกระดูกแตกร้าว
  เกาต์

              ผู้ป่วยจะมีอาการข้ออักเสบ (ข้อปวด บวม แดง ร้อน) ฉับพลัน ส่วนใหญ่เป็นที่ข้อหัวแม่เท้าเพียง 1 ข้อ บางรายอาจเป็นที่ข้อเท้าหรือข้ออื่น ๆ มักกำเริบหลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ผักยอดอ่อน หรือพืชหน่ออ่อนปริมาณมาก บางครั้งการบาดเจ็บที่ข้อ (เช่น เดินสะดุด หกล้ม) ก็อาจทำให้โรคเกาต์กำเริบได้ ซึ่งอาจทำให้คิดว่าเป็นเพียงข้อแพลง ผู้ป่วยโรคเกาต์บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
  ไข้รูมาติก
              มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะมีอาการข้ออักเสบรุนแรง เกิดขึ้นฉับพลันที่ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ หรือข้อศอกเพียงข้อเดียว โดยไม่มีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ข้อบางรายอาจมีประวัติเป็นไข้ เจ็บคอ หรือทอนซิลอักเสบมาก่อนปวดข้อ 1-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยมักมีไข้ร่วมด้วย
  ก้อนฝีที่ข้อ
             ระยะแรกที่เริ่มมีอาการบวมแดงร้อนและปวด อาจทำให้คิดว่าเป็นข้อแพลง ต่อมาฝีจะบวมเป่งเป็นก้อนชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีใช้ร่วมด้วย

  การวินิจฉัย
 แพทย์จะวินิจฉัยจากประวัติได้รับบาดเจ็บที่ข้อ (เช่น ข้อพลิก เดินสะดุด หกล้ม) แล้วเกิดอาการข้อบวมและปวด เคลื่อนไหวข้อลำบาก (เช่น ข้อเท้าพลิก ทำให้เดินไม่ถนัด หรือเดินกะเผลก)

     - ในรายที่สงสัยข้อกระดูกแตกร้าวหรือหักแพทย์จะทำการเอกซเรย์

     - ในรายที่สงสัยเป็นข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น อาจต้องทำการตรวจเลือด หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม

  การดูแลตนเอ
1.พักการใช้ข้อที่แพลง กล่าวคือ ให้ข้อนั้นอยู่นิ่ง ๆ ขยับเขยื้อนให้น้อยที่สุด 
       - ถ้าข้อเท้าแพลงก็พยายามหลีกเลี่ยงการเดินหรือยืนด้วยเท้าข้างที่บาดเจ็บ และยกให้สูง (เวลานอนก็ใช้หมอนรองให้สูง หรือเวลานั่งควรยกเท้าวางบนโต๊ะ หรือเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง อย่าห้อยเท้าลง
  - ถ้าข้อมือแพลง ควรยกข้อมือให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้ผ้าคล้องคอ และอย่าใช้ข้อมือข้างนั้น

2.ในกรณีที่เพิ่งได้รับบาดเจ็บในระยะ 48 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น (ถ้าเป็นที่ข้อเท้า อาจใช้เท้าแช่ในน้ำเย็น) นาน 15-30 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการบวมและปวด
3.ถ้าปวดมาก ให้กินยาพาราเซตามอลบรรเทา
4.ในระยะหลังบาดเจ็บ 48 ชั่วโมงไปแล้วหรือเมื่อข้อบวมเต็มที่แล้ว ให้ประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ นาน 15-30 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการอักเสบ อาจใช้ขี้ผึ้ง น้ำมันระกำ ยาหม่องหรือเจลทาแก้ข้ออักเสบ ทานวด
 5.ถ้าเป็นมากจนเคลื่อนไหวข้อนั้นไม่ได้เลย หรือสงสัยกระดูกแตกร้าว หรือเส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อขาด หรือดูแลตนเอง 2-3 วันแล้วไม่รู้สึกดีขึ้นให้รีบไปหาหมอ

  การรักษา
          นอกจากแนะนำให้ดูแลตนเองดังกล่าวแล้ว บางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) และอาจใช้ผ้าพันแผลชนิดยืด (elastic bandage) พันรอบข้อที่แพลงพอแน่น เพื่อลดการเคลื่อนไหวของข้อและลดบวม

       ในรายที่พบว่ามีข้อแพลงรุนแรง อาจต้องเข้าเฝือกหรือพบว่ามีการขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ ก็อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดซ่อมแซม

  ภาวะแทรกซ้อน

          มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ยกเว้นในรายที่ดูแลตนเองไม่ถูกต้อง (เช่น ไม่ค่อยได้พักข้อที่แพลง) อาจมีอาการบวมเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังได้ หรือทำให้ข้อเสื่อมเร็ว

 การดำเนินโรค

          เมื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาการปวดจะทุเลาขึ้นภายใน 2-3 วัน และอาการปวดและบวมจะลดน้อยลงชัดเจนภายใน 1-2 สัปดาห์ และหายขาดภายใน 3-4 สัปดาห์
          ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องหรือยังฝืนใช้งานข้อที่แพลงต่อไป ก็อาจเรื้อรังเป็นเวลา 2-3 เดือนขึ้นไป

  การป้องกัน

          1.หมั่นบริหารข้อต่าง ๆ ด้วยวิธียืดเหยียดข้อต่าง ๆ เป็นประจำ

       2.ป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น อย่าเดินบนพื้นผิวขรุขระ หรือในที่มืดสลัว หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง ควรสวมใส่รองเท้าที่กระชับพอเหมาะ

  ความชุก

          โรคนี้พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปวดท้องเมนส์ กันดีกว่าแก้

                                    
ปวดท้องเมนส์ กันดีกว่าแก้ (Momypedia)
โดย: รัสมี ภู่
           เกิดเป็นหญิง..แท้จริงแสนลำบาก...อาจเป็น คำพังเพยโบร่ำโบราณแต่ยังไม่เชยตกยุคนะคะ เพราะคำคำนี้มักจะวาบขึ้นมาในความคิดเสมอ เวลาผู้หญิงเราต้องเผชิญภาวะเจ็บปวดทางร่างกาย ที่เห็นชัด ๆ ก็เวลาปวดท้องเมนส์นี่ละค่ะ
          แล้วลองคิดดู...เวลาสาว ๆ นั่งเอามือกุมท้อง ร้องโอดโอย หน้าตาซีดเซียว กินข้าวไม่ลง บางรายถึงขนาดไปโรงเรียนไม่ได้ ไปทำงานไม่ได้ จะน่าเห็นใจสักแค่ไหน...งานนี้ ต้องมาจัดการกับอาการเจ็บปวดจากภัยธรรมชาติ (ทางร่างกาย) แล้วล่ะ
          โดย คุณหมอเสาวคนธ์ อัจจิมากร สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ท่านช่วยไขข้อข้องใจให้ว่า สาเหตุของการปวดท้องเมนนี้มี 2 แบบ คือ
          -  แบบปฐมภูมิ เป็นการปวดที่ไม่มีสาเหตุ มักเกิดกับเด็กในวัยเริ่มมีประจำเดือน จนถึงวัยรุ่น
          -  แบบทุติยภูมิ เป็นการปวดที่มีสาเหตุ เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญเติบโตผิดที่ เป็นเนื้องอก ฯลฯ มักเกิดกับคนที่เลยวัยรุ่น หรือมีอายุเกิน 20 ปีไปแล้ว
            วิธีตั้งข้อสังเกตง่าย ๆ ของอาการ 2 แบบ นี้ก็คือ ถ้าอาการปวดหายไปพร้อมการหมดรอบเดือนคือการปวดแบบปฐมภูมิ แต่ถ้ารอบเดือนหมดแล้วยังมีอาการปวดต่อไปอีกระยะหนึ่ง จะเป็นแบบทุติยภูมิ และอย่านิ่งนอนใจ ควรพาตัวเองไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของโรคค่ะ 
             สำหรับการการปวดท้องเมนส์ของเด็กวัยแรกสาว และสาวรุ่นนั้น ส่วนใหญ่จึงมักเป็นการปวดแบบไม่มีสาเหตุ คือปวดเพราะมดลูกมีการบีบ หรือเกร็งตัวเพื่อช่วยในการหลั่งเลือดประจำเดือน รวมทั้งเวลามีรอบเดือนร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน prostaglandins ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการปวด
ดังนั้นคุณหมอจึงแนะนำว่า ถ้ารู้ว่าจะปวดท้องเวลามีรอบเดือน ก็ควรจะหาวิธีป้องกัน โดยก่อนมีรอบเดือนแต่ละครั้งควรทานยาที่มีฤทธิ์ต้าน prostaglandins เสียก่อน จะได้ไม่ต้องนั่งเจ็บปวด และทนทรมานจากภาวะธรรมชาติในตัวแทบทุกเดือน
            "เมื่อก่อนเราอาจจะใช้แก้ปวดธรรมดา เช่น พาราเซตตามอล แอสไพริน หรือถ้าปวดมาก ๆ ก็กินยาคลายกล้ามเนื้อ แต่เมื่อเราค้นพบว่ามีฮอร์โมน prostaglandins เป็นตัวก่อให้เกิดอาการปวดท้องเวลามีเมนส์ ซึ่งในบางคนใช้ยาแก้ปวดธรรมดา หรือยาคลายกล้ามเนื้ออาจไม่ได้ผล เขาจึงจำเป็นต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้าน prostaglandins หรือในชื่อยาที่คนรู้จักคือ Ponstan ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านสารตัวนี้"
            คุณหมอยังบอกด้วยว่า การป้องกันโดยใช้วิธีทานยาป้องกันนี้ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ อาจแค่ระคายเคืองกระเพาะนิดหน่อย แต่ถ้าทานน้ำตามมาก ๆ หลังทานยาจะช่วยได้  แต่ถ้าไม่อยากให้ทานยา และมีอาการปวดไม่มาก การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบที่หน้าท้อง ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยได้เช่นกัน เลือกบำบัดกันได้ตามอัธยาศัยค่ะ แต่คุณหมอก็ยังทิ้งท้ายว่า การป้องกันด้วยการทานยาน่าจะดีกว่ารอให้ปวดก่อนแล้วค่อยแก้ไขทีหลัง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คนอีสานป่วยมะเร็งตับ - ท่อน้ำดีมากสุดในโลก



                                                       

คนอีสานป่วยมะเร็งตับ,ท่อน้ำดีมากสุดในโลก (ไอเอ็นเอ็น)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

           รมช.สาธารณสุข เผย คนอีสานป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี มากสุดในโลก เหตุกินปลาดิบ เร่งบรรจุวาระแห่งชาติ ลดอัตราเสียชีวิต
           น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ ว่าขณะนี้พบว่า คนอีสานป่วยเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุดในโลก โดยสถิติผู้ป่วยของประเทศไทย อยู่ที่ 10 - 20 คนต่อประชากร 1 แสนคน แต่สถิติของภาคอีสาน อยู่ที่ 40 คนต่อประชากร 1 แสนคน และประชากรอีสาน ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป พบมากถึง 80 คนต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่สถิติของประชากรโลก อยู่ที่ 1 - 2 คนต่อ 1 แสนคนเท่านั้น โดยที่สาเหตุของการป่วยในประเทศมาจากการรับประทานปลาแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา และปลาร้าที่หมักไม่นาน เป็นต้น
           ส่วนการแก้ไขปัญหา ขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์ฯ รณรงค์ป้องกันรักษามะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยจะมีการพัฒนาโรงพยาบาลหลักในภาคอีสาน 4 แห่ง ให้มีศักยภาพมากขึ้นในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะแรก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดสูงกว่า อีกทั้งจะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ สำหรับคนอีสานโดยเฉพาะ และจะหารือกับ กระทรวงศึกษาธิการให้บรรจุหลักสูตรป้องกัน ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมทั้งอบรม อสม.ให้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง